โรคต้อเนื้อ (Pterygium)

ต้อเนื้อ (Pterygium)

อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อเนื้อ





ต้อเนื้อ

ต้อเนื้อ หรือ ต้อลิ้นหมา (Pterygium) คือ โรคตาที่เกิดจากเยื่อบุตาที่เกิดการเสื่อมและหนาตัวขึ้นงอกไปบนกระจกตา (ตาดำ) ซึ่งมักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา และจะค่อย ๆ โตลุกลามอย่างช้า ๆ เข้าไปในตาดำ ถ้าเป็นมากจะลามเข้าไปจนถึงกลางตาดำและปิดรูม่านตา ซึ่งจะปิดบังการมองเห็นทำให้ตามัวได้
ต้อเนื้อเป็นโรคที่พบได้มากในประเทศเขตร้อนที่ค่อนข้างแห้งแล้ง กันดาร และมีฝุ่นลมจัด (ประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายนั่นแหละครับ ส่วนประเทศที่มีอากาศหนาวจะไม่ค่อยพบคนเป็นโรคนี้) โรคนี้จึงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในบ้านเราแทบทุกภาคของประเทศ แต่จะพบเป็นกันมากที่สุดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ฯลฯ เป็นต้น มักพบหรือเกิดกับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และจะพบได้มากในผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-55 ปี (ยังไม่ค่อยพบโรคนี้ในผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี คือ พบได้เหมือนกันแต่น้อยมาก และยังไม่พบโรคนี้เลยในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี) ส่วนอัตราการเกิดโรคนี้ในผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้พอ ๆ กัน
หมายเหตุ : หากเนื้องอกอยู่เฉพาะในส่วนที่เป็นตาขาวจะเรียกว่า ต้อลม แต่หากเนื้องอกจากตาขาวลามเข้าไปในตาดำจะเรียกว่าต้อเนื้อ

สาเหตุของโรคต้อเนื้อ

ต้อเนื้อเป็นความผิดปกติของเยื่อบุตา (บริเวณตาขาวชิดตาดำ) ที่เกิดจากการเสื่อมและหนาตัวขึ้น ทำให้กลายเป็นแผ่นเนื้อรูปสามเหลี่ยมสีแดง ๆ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ต้อเนื้อ หรือ ต้อลิ้นหมา เนื่องจากแผ่นเนื้อดังกล่าวมีสีแดงยื่นจากตาขาวเข้าสู่ตาดำเหมือนแผ่นเนื้อ
ส่วนสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดต้อเนื้อนั้นในปัจจุบันยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่พบว่าการถูกแสงแดด (รังสีอัลตราไวโอเลต – UV) เป็นประจำ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคนี้ นอกจากนี้ โรคตาแห้ง การถูกลม ฝุ่น ควัน ทราย ความร้อน สารเคมี และมลพิษทางอากาศเป็นประจำก็อาจทำให้เกิดโรคต้อเนื้อได้ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้จึงพบโรคต้อเนื้อได้บ่อยในคนที่ทำงานกลางแจ้ง ซึ่งถูกแสงแดดเป็นประจำ เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ชาวประมง คนงานก่อสร้าง ผู้ที่ต้องรับเหมากลางแจ้ง วิศวกรสร้างทางหรือกรรมกรสร้างทาง นักกีฬากลางแจ้ง เป็นต้น และมีส่วนน้อยที่อาจพบได้ในผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสกับสิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ บ่อย ๆ เช่น คนทำครัว (ถูกควัน ไอร้อน) คนงานในโรงงาน (ถูกสารเคมี) เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่า ผู้ป่วยบางรายจะมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย จึงเชื่อว่าปัจจัยทางด้านกรรมพันธุ์อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องต่อการเกิดต้อเนื้อได้ด้วย คืออย่างบางคนแม้จะไม่ได้เผชิญปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวเลยและทำงานอยู่แต่ในห้องแอร์ก็ยังเป็นโรคนี้ได้ หรือบางคนอายุแค่ 17-18 ปีก็เป็นโรคนี้กันแล้ว ซึ่งตามหลักแล้วไม่น่าจะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ นั่นแสดงว่าน่าจะเป็นจากกรรมพันธุ์นั่นเอง

อาการของโรคต้อเนื้อ

  • จะเห็นแผ่นเนื้อเยื่อรูปสามเหลี่ยมที่ยื่นจากตาขาวเข้าไปในกระจกตา (ตาดำ) ซึ่งอาจเป็นสีเหลืองและมีสีแดงบ้างเล็กน้อย และมีเส้นเลือดอยู่รอบ ๆ ต้อเนื้อ โดยส่วนมากมักจะเกิดที่ด้านหัวตา (ด้านในของตาส่วนที่อยู่ใกล้กับจมูก) และมีส่วนน้อยที่อาจเกิดที่ด้านหางตา ทั้งนี้เป็นเพราะส่วนของหัวตามีโอกาสกระทบกับสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดต้อเนื้อได้มากกว่าส่วนหางตานั่นเอง และประกอบกับการมีหลอดเลือดมาเลี้ยงในบริเวณที่หัวตามากกว่าด้วย (ในผู้ป่วยบางรายอาจมีต้อเนื้อทั้งหัวตาและหางตาพร้อมกันได้ และผู้ป่วยอาจเป็นต้อเนื้อที่ตาเพียงข้างเดียวหรือเป็นทั้งสองข้างเลยก็ได้)
  • ในบางครั้งหลังจากถูกแสงถูกลมมาก ๆ หรือนอนดึก อาจทำให้เห็นหลอดเลือดขยายมีลักษณะแดงเรื่อ ๆ ได้
  • โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่รู้สึกมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแต่อย่างใด นอกจากบางครั้งที่มีการอักเสบจะมีอาการเคืองตา แสบตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล หรือมีอาการปวดได้เล็กน้อย (อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นเมื่อถูกแดดถูกลม)
  • ในบางรายที่เป็นโรคต้อเนื้อนานเป็นแรมเดือนแรมปี ต้อเนื้ออาจยื่นเข้าไปถึงกลางตาดำ ทำให้บดบังสายตา ตามัว และมองไม่ถนัดได้
  • ต้อเนื้อแม้จะลุกลามได้แต่ก็ไม่ใช่มะเร็งและไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งได้ จึงไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดกับดวงตา จึงสามารถปล่อยทิ้งไว้เพื่อรอเวลาที่เหมาะสมต่อการผ่าตัดได้


ภาวะแทรกซ้อนของโรคต้อเนื้อ

  • โรคนี้ส่วนมากจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงเกิดขึ้นแต่อย่างใด ยกเว้นแต่ว่าต้อเนื้อจะยื่นเข้าไปปิดตาดำจนมิด ก็อาจจะบังสายตาทำให้มองไม่ถนัดได้ ซึ่งมักจะใช้เวลานานหลายปี เนื่องจากต้อเนื้อจะค่อย ๆ งอกลุกลามขึ้นอย่างช้า ๆ (โดยปกติก่อนจะถึงขั้นเป็นมากจนปิดตาดำ ผู้ป่วยจะต้องไปพบแพทย์ก่อนแล้ว เว้นแต่ในคนแก่ที่มักรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็อาจปล่อยปละละเลยจนปิดตามิดทั้ง 2 ข้าง ทำให้ตาบอดได้ ซึ่งการผ่าตัดลอกออกในกรณีนี้จะทำได้ยากและมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก)
  • ต้อเนื้อนี้อาจทำให้ดวงตารู้สึกระคายเคืองต่อฝุ่น ลม ได้มากขึ้น และทำให้เกิดอาการไม่สบายตา เช่น แสบร้อน และน้ำตาไหลได้บ้างเป็นครั้งคราว (การใช้ยาสามารถช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองนี้ได้)
  • ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก คือ การเกิดแผลเป็นที่กระจกตา ซึ่งอาจพบในรายที่เป็นมากและปล่อยให้มีการอักเสบบ่อย ๆ ซึ่งจะต้องได้รับการแก้ไขด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา

วิธีรักษาโรคต้อเนื้อ

  1. เมื่อมีความผิดปกติของตาหรือสายตา เช่น มีแผ่นเนื้อหรือก้อนเนื้อที่เยื่อตา หรือเมื่อกังวลใจในเรื่องเกี่ยวกับตา ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เสมอ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะตาเป็นอวัยวะที่สำคัญมาก ถึงแม้โรคตาส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เสียชีวิต แต่บางโรคที่ร้ายแรงก็อาจเป็นสาเหตุทำให้ตาบอดได้
  1. ถ้าได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นต้อเนื้อก็ไม่ต้องตกใจอะไร เพราะเป็นโรคที่ไม่ร้ายแรง การรักษาทำได้ไม่ยาก แต่อย่าไปใช้สมุนไพรหรือวิธีโบราณที่เรียกว่าวิธีตัดต้อด้วยก้านกระเทียมบ้าง กระชายบ้าง เพราะนอกจากจะไม่หายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อรุนแรงได้อีกด้วย
  2. ในผู้ที่เป็นน้อย ๆ ถ้าไม่มีอาการอักเสบและต้อเนื้อยังไม่ลามเข้ากระจกตาหรือตาดำ ก็ยังไม่ต้องทำการรักษาหรือทำการผ่าตัดใด ๆ เพราะไม่อันตรายต่อตา แต่ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ลม ฝุ่น และสิ่งระคายเคืองตาต่าง ๆ ถ้าต้องออกกลางแดด ควรสวมแว่นตาดำที่สามารถกันรังสีอัลตราไวโอเลต สวมหมวก และกางร่มเพื่อป้องกันมิให้ต้อเนื้อลุกลามมากขึ้น
  3. ถ้ามีอาการระคายเคืองตา ตาแดง หรือตาอักเสบ ให้ใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบเป็นครั้งคราว (ส่วนมากแพทย์จะนิยมให้ยาแก้แพ้และยาที่มีฤทธิ์ทำให้เส้นหลอดเลือดหดตัว ซึ่งจะทำให้ต้อเนื้อที่แดงซีดลงได้) แต่ถ้ายังไม่ได้ผลหรืออักเสบมาก แพทย์อาจให้ใช้ยาหยอดตาสเตียรอยด์ (Steroid eye drops) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสบายตาได้เร็ว (ยาหยอดตาเหล่านี้ไม่สามารถทำให้ต้อเนื้อหายไปได้) แต่ควรหลีกเลี่ยงหรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เมื่อดีขึ้นแล้วให้หยุดใช้ เพราะการใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจากยา เช่น ต้อกระจก ต้อหิน ซึ่งรุนแรงและอันตรายกว่าต้อเนื้อมากนัก
    • การใช้ยาหยอดตาให้ใช้เท่าที่จำเป็น หรือใช้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น มิใช่หยอดไปเรื่อย ๆ เพราะบ่อยครั้งที่แพทย์สั่งยาหยอดตาให้ 1 ขวด เมื่อหมดขวดแล้วผู้ป่วยก็นำตัวอย่างไปซื้อมาหยอดเองอีกและหยอดต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่จำเป็น
  4. สำหรับการผ่าตัดให้รอจนกระทั่งต้อเนื้อลามเข้าไปในกระจกตาดำพอสมควรก่อน (สักประมาณ 3-4 มิลลิเมตร)
    • ในกรณีที่ผู้ป่วยอายุยังน้อยและต้อเนื้อยังเป็นไม่มาก หากรีบทำการผ่าตัด โอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นซ้ำอีกจะมีสูงมาก และต้อเนื้อที่งอกขึ้นมาใหม่นี้มักจะลุกลามอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดการระคายเคืองได้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นเพียงต้อลม ดังนั้น เมื่อแพทย์อธิบายว่าไม่เป็นอันตรายหรือยังไม่ต้องผ่าตัด ผู้ป่วยก็ควรรับฟังด้วยความเข้าใจ เพราะมีบ่อยครั้งที่ผู้ป่วยคำนึงถึงความสวยความงามมากเกินไปและอยากเอาออกทันที แต่หารู้ไม่ว่าในรายที่ผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกไปแล้วก็อาจเกิดต้อเนื้อกลับมาเป็นซ้ำและมีขนาดที่ใหญ่กว่าเดิมอีก
    • ประมาณ 30% ของผู้ป่วยที่ทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อออกแล้วจะมีโอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก (โดยในคนวัยหนุ่มสาวจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้สูงกว่าผู้สูงอายุ) ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการถูกแดด ลม ฝุ่น และความร้อนร่วมด้วย มิฉะนั้นแม้จะใช้ยาป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ การกลับมาเป็นซ้ำก็มีอยู่เสมอ

วิธีป้องกันโรคต้อเนื้อ

  • สิ่งสำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการเผชิญสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยของการเกิดต้อเนื้อ โดยเฉพาะการถูกแสงแดดจัด ๆ (โดยเฉพาะแสงแดดในช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่แดดจัด รังสีอัลตราไวโอเลตค่อนข้างสูง) การถูกลมโกรกบ่อย ๆ สถานที่ที่มีลมโกรกบ่อย ๆ มีฝุ่น ควัน หรือสิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงไอร้อน ๆ ที่อาจกระทบบริเวณใบหน้าด้วย โดยเฉพาะพ่อครัวแม่ครัวที่ต้องทำอาหารเกือบทั้งวัน
  • ถ้าต้องออกจากบ้านหรือต้องเผชิญกับแสงแดด ลม ฝุ่น ควัน สิ่งระคายเคืองตาอื่น ๆ ควรสวมแว่นกันแดดที่สามารถป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตได้ สวมหมวกปีกกว้าง และกางร่มอยู่เสมอก็จะช่วยได้มาก
  • ควรพักสายตาเป็นพัก ๆ หรือล้างหน้าล้างตาเมื่อรู้สึกแสบตา
  • สำหรับคนที่ตาแห้งควรหยอดน้ำตาเทียม

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคต้อเนื้อ

  • โรคต้อเนื้อไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่มะเร็งและไม่สามารถเปลี่ยนเป็นโรคมะเร็งได้ และไม่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
  • ควรหลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตาที่มีตัวยาสเตียรอยด์ผสมอยู่ (Steroid eye drops) มาใช้ด้วยตัวเอง เนื่องจากหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้ต้อเนื้อกลายเป็นต้อหินตาบอดได้
  • มีหลายคนเข้าใจผิดว่าต้อเนื้อเกิดจากการรับประทานเนื้อ จึงป้องกันโดยการไม่รับประทานเนื้อ เพราะเกรงว่าจะทำให้เป็นมากขึ้น ซึ่งไม่ถูกต้องและเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่าโรคนี้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการรับประทาน เพราะคำว่า “เนื้อ” ในที่นี้มาจากลักษณะของโรคที่เห็นเป็นก้อนเนื้องอกขึ้นมา
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีตุ่มนูน สีขาวเหลือง รูปสามเหลี่ยมหรือหลายเหลี่ยมเล็ก ๆ เกิดขึ้นตรงขอบตาดำด้านหัวตาหรือหางตา (ตรงกับบริเวณที่เป็นต้อเนื้อ) ซึ่งมักจะเป็นกับตาทั้ง 2 ข้าง เรียกว่า ต้อลม (Pinguecula) โดยมีสาเหตุการเกิดเช่นเดียวกับโรคต้อเนื้อ แต่ส่วนใหญ่มักจะไม่ลุกลามเข้าตาดำ และไม่ต้องทำการรักษาแต่อย่างใด นอกจากในบางครั้งที่ผู้ป่วยอาจมีอาการอักเสบเคืองตา ก็ให้ใช้ยาหยอดตาลดการอักเสบเช่นเดียวกับโรคต้อหิน ส่วนการผ่าตัดลอกออกนั้น แพทย์มักจะไม่แนะนำให้ทำ เพราะอาจจะทำให้เกิดรอยแผลเป็น ทำให้ดูไม่สวยงามได้ และส่วนใหญ่มักกลับมาเป็นซ้ำได้อีก


ต้อเนื้อ (Pterygium)

อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อเนื้อ


และการได้รับ สารอาหารสำหรับดวงตา ที่เหมาะสม
จะช่วยฟื้นฟูดวงตาของคุณและคนที่คุณรัก
ให้สายตาได้กลับมามองเห็นได้ชัดเจนดีขึ้น

ด้วยสารอาหารจากธรรมชาติ! ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม "คลิก"
ที่รูปด้านล่างนี้เลยนะคะ





เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ต้อกระจก (Cataract) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อกระจก

รู้จักโรค "สมาธิสั้น!" ปล่อยไว้ยิ่งแย่.. ดูแลอย่างถูกวิธีดีกว่า...

" อเลอไทด์ " อาหารสมอง..เพื่อวัยเรียนรู้