ต้อกระจก (Cataract) อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataract) 

อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อกระจก





โรคต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataract) เป็นภาวะที่แก้วตาภายในลูกตาเสื่อมลงจนมีลักษณะขุ่นขาวจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ทำให้บดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในตา แสงจึงส่งผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอประสาทตาหรือเรตินาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการสายตาฝ้าฟางหรือสายตามัวคล้ายหมอกบัง
หมายเหตุ : แก้วตา หรือ เลนส์ตา (Lens) เป็นเลนส์นูนใสที่อยู่หลังม่านตา มีลักษณะเหมือนเลนส์นูนทั่วไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งด้านหน้าจะแบนกว่าด้านหลัง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 มิลลิเมตร และมีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร
แก้วตามีหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุให้ตกโฟกัสที่จอประสาทตา (Retina) จึงทำให้เกิดการมองเห็น อีกทั้งแก้วตายังสามารถเปลี่ยนกำลังการหักเหได้ด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถโฟกัสภาพในระยะต่าง ๆ ได้ชัดขึ้น ทำให้มองเห็นได้ชัดทั้งในระยะไกลและระยะใกล้ ด้วยความสำคัญนี้เอง ธรรมชาติจึงสร้างแก้วตาให้มาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย โดยอยู่ตรงใจกลางของดวงตาเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายได้โดยง่าย


สาเหตุของต้อกระจก

ส่วนใหญ่แล้วประมาณ 80% ต้อกระจกจะเกิดจากภาวะเสื่อมตามวัยหรือจากวัยชรา โดยผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจะเป็นต้อกระจกกันแทบทุกราย แต่อาจจะเป็นมากหรือน้อยแตกต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ” (Senile cataract) และในส่วนน้อยอีกประมาณ 20% อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จากวัยชรา เช่น
  • เป็นต้อกระจกมาแต่กำเนิด ได้แก่ ต้อกระจกในเด็กทารกที่เกิดจากแม่ซึ่งเป็นหัดเยอรมันในช่วงระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์, ต้อกระจกในเด็กที่มีภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหาร และต้อกระจกแต่กำเนิดชนิดกรรมพันธุ์ที่ไม่ทราบสาเหตุ

  • เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างแรง (โดยเฉพาะในวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว) เช่น การเล่นกีฬาบางประเภท อาทิ โดนลูกเทนนิสพุ่งเข้าตา โดนลูกขนไก่, การประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะโดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันดวงตา, การเกิดอุบัติเหตุถูกของมีคมทิ่มแทง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์แล้วถูกกระจกทิ่มแทงในตา หรือมีเศษเหล็กกระเด็นเข้าตาในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ แม้ว่าจะให้การรักษาอุบัติเหตุระยะต้นถูกต้องแล้วก็ตาม แต่อาจเป็นต้อกระจกได้ในอีก 2-3 ปีต่อมา

  • โรคประจำตัวในวัยกลางคน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ โรคขาดสารอาหาร ก็มักจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้

  • เกิดจากความผิดปกติของตาหรือเป็นโรคเกี่ยวกับตา เช่น ต้อหิน ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ

  • เกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น การใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด การใช้ยาหยอดตาที่มีสเตียรอยด์หรือกินยาสเตียรอยด์นาน ๆ (เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ซึ่งเป็นยาที่นิยมใช้รักษาโรคเรื้อรังต่าง ๆ อย่างโรคภูมิแพ้ โรคหืด โรคไต โรคข้อ ถ้าผู้ป่วยได้รับยาในกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ ควรพึงระลึกไว้เสมอว่าตนก็อาจเป็นต้อกระจกก่อนวัยอันควรได้ เพราะมีผู้ป่วยอยู่จำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคภูมิแพ้และซื้อยามารับประทานเอง พอนาน ๆ เข้าตาก็เริ่มมัวลงเรื่อย ๆ จากการเป็นโรคต้อกระจก แต่หากหยุดใช้ยาดังกล่าว แม้ว่าต้อที่เป็นแล้วจะไม่หายไป แต่ก็ช่วยระงับไม่ให้โรคลุกลามเร็วขึ้นได้)

  • เกิดจากการถูกรังสีที่บริเวณตาเป็นเวลานาน (เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งที่เบ้าตาและรักษาด้วยรังสีบ่อย ๆ) หรือถูกแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เช่นกัน

  • เกิดจากการสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ




อาการของต้อกระจก

  • ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาค่อย ๆ มัวลงเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด ในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกว่ามีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองเห็นในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกว่าตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน (เพราะแก้วตามักจะขุ่นขาวเฉพาะบริเวณตรงกลาง เมื่อมองในที่มืดรูม่านตาจะขยายและเปิดทางให้แสงผ่านเข้าแก้วตาส่วนรอบนอกที่ยังใสอยู่ได้เป็นปกติ จึงทำให้เห็นภาพได้ชัดในที่มืด แต่ถ้ามองในที่สว่างรูม่านตาจะหดแคบลง จึงทำให้แสงสว่างผ่านเฉพาะแก้วตาบริเวณตรงกลางที่ขุ่นขาว จึงทำให้พร่ามัว)






  • ผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตว่าการมองเห็นของตนเองนั้นผิดไปจากเดิม เช่น มองเห็นจุดอยู่หน้าตา, มองเห็นแสงไฟเป็นแสงกระจาย, อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง, มองเห็นแสงไฟเป็น 2 ดวงซ้อนกัน หรือมองเห็นพระจันทร์สองดวงหรือหลายดวง แม้จะดูด้วยตาข้างเดียวแต่ก็ยังเห็นภาพซ้อนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะแก้วตาที่ขุ่นมัวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสงไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่ประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว





  • ผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแว่นตาบ่อย เพราะการมองเห็นในระยะใกล้ดีขึ้นหรือไม่ต้องใส่แว่นตาเพื่ออ่านหนังสือ ซึ่งในผู้สูงอายุที่อ่านหนังและต้องใช้แว่นสายตาช่วยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อยู่ ๆ กลับพบว่าสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น หากเกิดอาการแบบนี้อย่าเพิ่งดีใจไปและคิดว่าสายตาจะดีขึ้นเองนะครับ เพราะนั่นเป็นอาการเริ่มต้นของการเสื่อมของแก้วตา (โรคต้อกระจกในระยะแรก) พอแก้วตาเริ่มขุ่นก็จะทำให้การหักเหของแสงเปลี่ยนไป ผู้สูงอายุจึงกลับมาเป็นคนสายตาสั้นเมื่อแก่ (Secondary myopia) ดังนั้นถ้าพบอาการเช่นนี้ ควรรีบไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจดูว่าเริ่มเป็นต้อกระจกแล้วหรือไม่

  • ผู้ป่วยที่เป็นมาก ๆ อาจมีอาการปวดตาหรือปวดศีรษะร่วมด้วย

  • อาการตามัวจะเริ่มเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมดหรือที่เรียกว่า ต้อสุก ก็จะมองไม่เห็น (เห็นเป็นฝ้าขาวบริเวณกลางรูม่านตา) สำหรับในผู้สูงอายุมักจะเป็นต้อกระจกที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน



การวินิจฉัยต้อกระจก

เมื่อตรวจดูตาจะพบว่าแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว เมื่อใช้ไฟส่องผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาพร่า เมื่อใช้เครื่องส่องตา (Ophthalmoscope) ตรวจดูจะไม่พบปฏิกิริยาสะท้อนสีแดง (Red reflex)
  • อาการตามัวยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ นอกจากต้อกระจก ซึ่งแพทย์จะซักถามอาการและตรวจดูให้แน่ชัดว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะร้ายแรงอย่างเช่น ต้อหิน

  • ต้อกระจกที่พบได้ในผู้ที่มีอายุน้อยหรือในช่วงวัยกลางคน อาจมีสาเหตุมาจากโรคเบาหวานหรือโรคอื่น ๆ ได้ ถ้าพบอาการดังกล่าว แนะนำว่าผู้ป่วยควรไปตรวจที่โรงพยาบาล


ภาวะแทรกซ้อนของต้อกระจก

  • เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท

  • ในบางรายแก้วตาอาจบวมหรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของเหลวในลูกตา ทำให้เกิดความดันภายในลูกตาสูงขึ้น จนกลายเป็นต้อหินได้

  • ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง



วิธีรักษาต้อกระจก


  • หากสงสัยว่าตนเองเริ่มเป็นต้อกระจก ควรไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด เพราะอาการตามัวอาจเกิดจากต้อหินซึ่งร้ายแรงกว่าต้อกระจกหลายเท่าก็เป็นได้

  • เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นต้อกระจกแล้ว แพทย์จะนัดหมายมาเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่า (คือ การผ่าตัดเอาแก้วตาที่ขุ่นออก)

    1. ควรผ่าตัดต้อกระจกเมื่อไหร่ ? : โดยทั่วไปแล้วแพทย์จะทำการผ่าตัดต้อกระจกให้เมื่อผู้ป่วยสายตามัวจนดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวกหรือเป็นอุปสรรค เช่น การทำงานที่ต้องใช้สายตา การขับรถเดินทาง การอ่านหนังสือ เป็นต้น หรือในผู้ป่วยที่ต้อกระจุกขุ่นมากจนทำให้ไม่สามารถตรวจจอประสาท เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน หรือในผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่น เป็นต้อหิน ส่วนในทารกที่เป็นต้อกระจกมาตั้งแต่กำเนิดนั้น แพทย์อาจทำการผ่าตัดให้เมื่ออายุได้ประมาณ 6 เดือน เพื่อป้องกันมิให้ประสาทตาเสื่อม (แต่ถ้าต้อกระจกยังเป็นน้อย ใช้แว่นสายตาก็ยังพอดำเนินชีวิตประจำวันได้ก็ยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัด เพราะขึ้นชื่อว่าผ่าตัดแม้จะใช้เครื่องมือที่ดีที่สุดก็ตาม แต่ก็คงหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนไม่ได้ทั้งหมด (แม้ว่าจะลดลงก็ตาม) และเราก็มีดวงตาแค่ 2 ข้าง จึงไม่ควรเสี่ยงหากไม่จำเป็น)

     2. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ (แม้การผ่าตัดในปัจจุบันจะมีข้อดีอยู่มาก แต่ก็           มีข้อห้ามหรือเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับผู้ป่วยบางคนได้) :

    •  ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของตาดำ เช่น ม่านตาขยายไม่ได้เต็มที่ จึงบดบังการมองเห็นของแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด

    • ผู้ป่วยต้อกระจกที่มีเนื้อเยื่อยึดแก้วตาอ่อนแอผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งการผ่าตัดอาจทำให้แก้วตาตกลงไปในส่วนล่างของตา ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมา เช่น วุ้นตาอักเสบรุนแรง หรือจอประสาทตาเสียหาย จนถึงขั้นทำให้สูญเสียสายตาได้

    • ต้อสุกมากหรือสุกจัด เพราะจะสลายต้อกระจกได้ยาก ต้องเพิ่มกำลังคลื่นเสียงจนอาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่ออื่น ๆ ในดวงตาที่อยู่ใกล้เคียงได้



วิธีป้องกันต้อกระจก

โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้อย่างเต็ม 100% เพราะเป็นโรคที่เสื่อมตามวัย แต่เราสามารถป้องกันการเกิดโรคต้อกระจกก่อนวัยอันควรและชะลอให้โรคนี้เกิดช้าลงได้ ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังที่กล่าวมา ได้แก่
  1. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ รวมไปถึงการใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด

  2. หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับดวงตา โดยระวังอย่าให้ดวงตาถูกกระทบกระแทก ผู้ที่ทำงานที่มี        โอกาสเสี่ยงต่อดวงตาควรสวมอุปกรณ์ป้องกันอันตรายต่อดวงตา

  3. ควรสวมแว่นกัดแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งท่ามกลางแสงแดดจ้า เพื่อช่วยกรองแสงอัลตราไวโอเลต          และไม่มองจ้องดวงอาทิตย์โดยตรง

  4. พักสายตาเป็นระยะหากต้องใช้สายตาติดต่อกันเป็นเวลานาน

  5. งดการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์จัด

  6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้          ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอสูง ๆ เช่น แคร์รอต ฟักทอง มะเขือเทศ            มะละกอสุก กล้วย เป็นต้น

  7. การใช้ยาหยอดตาทุกชนิดควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้

  8. ควรตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปควรตรวจเป็นประจำทุกปี          ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจักษุแพทย์มักแนะนำให้ทุกคนควรไปตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำทุกปีเช่น
      เดียวกับการตรวจสุขภาพทั่วไป โดยสามารถเริ่มตรวจได้ตั้งแต่เมื่อมีอายุประมาณ 18 ปี แต่ถ้ามี
      อาการ ก็สามารถไปพบแพทย์ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ และหลังจากนั้นความถี่ในการตรวจจะขึ้นอยู่
      กับจักษุแพทย์แนะนำ



ต้อกระจก (Cataract) 


อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคต้อกระจก



และการได้รับ สารอาหารสำหรับดวงตา ที่เหมาะสม
จะช่วยฟื้นฟูดวงตาของคุณและคนที่คุณรัก
ให้สายตาได้กลับมามองเห็นได้ชัดเจนดีขึ้น

ด้วยสารอาหารจากธรรมชาติ! ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม "คลิก"
ที่รูปด้านล่างนี้เลยนะคะ







เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

รู้จักโรค "สมาธิสั้น!" ปล่อยไว้ยิ่งแย่.. ดูแลอย่างถูกวิธีดีกว่า...

" อเลอไทด์ " อาหารสมอง..เพื่อวัยเรียนรู้